วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสามัคคี

สามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามที่ต้องการ เกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์ ผู้ที่มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

คุณธรรมพื้นฐานเรื่องสามัคคีมีความสำคัญอย่างไร?

ในการดำเนินชีวิตของเรา ย่อมต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง เพื่อนร่วมงาน ร่วมชุมชน ตลอดจนพี่น้องร่วมครอบครัว จะเกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีหรือที่เรียกว่า ความสามัคคี ได้นั้น ต้องอาศัยเหตุที่เรียกว่า สาราณียธรรม หรือธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน มี 6 ประการ นั่นคือ
  1. เมตตากายกรรม หรือ ทำต่อกันด้วยเมตตา คือ แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อน ต่อผู้อื่นด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  2. เมตตาวจีกรรม หรือ พูดต่อกันด้วยเมตตา คือ ช่วยบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  3. เมตตานโนกรรม หรือ คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
  4. สาธารณโภคี หรือ ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน
  5. สีลสามัญญตา หรือ ประพฤติให้ดีเหมือนเขา คือ มีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือทำความเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ
  6. ทิฏฐิสามัญญตา หรือ ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน
ธรรมทั้ง 6 ประการนี้ อันได้แก่ ทำ-พูด-คิดต่อกันด้วยเมตตา มีน้ำใจ แบ่งปัน ประพฤติสุจริต รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สามารถเคารพนับถือกัน ช่วยเหลือดูแลกัน มีความพร้อมเพรียง มีความร่วมมือ ผนึกกำลังกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หากเราทุกคนได้ปฏิบัติ ก็จะเกิดเป็นคุณค่าที่จะก่อให้เกิดความสามัคคีในการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดีและมีความสงบสุข ปลอดภัย อันเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนปรารถนา

อ้างอิง จาก http://www.taamkru.com/th/คุณธรรมพื้นฐาน-เรื่องสามัคคี/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น