·
ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้
คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้าน เมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง
มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย
เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532)
·
ความสามัคคี เป็นคุณสมบัติประจำตัวของคนไทย
ที่ได้อบรมสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษโดยไม่ขาดสาย ทั้งนี้ เพราะคนไทย ทราบตระหนักว่า
หมู่คณะที่มีความ สามัคคีแน่นแฟ้นสมบูรณ์ ย่อมมีกำลังกล้าแข็งทั้งในการคิดและการปฏิบัติ
(พระราชทานในการประชุมใหญ่
สามัคคีสมาคม 26 ก.ค.2534)
·
บ้านเมืองไทย สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆได้โดยดี
เพราะว่าจิตใจสามัคคีและแสดงออกซึ่งสามัคคี ถ้าตราบใดเรารักษาความสามัคคี
ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไว้ได้ เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขตราบนั้น
(พระราชทานแก่คณะประชาชน
จ.ราชบุรี พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 26 พ.ย.2531)
·
ผู้ที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดี และเหมาะสมที่สุด
ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด
คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทย เสมอ
(พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น
27 ก.พ. 2537)
·
ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง
ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้
เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้
เพราะสถาบันต่างๆตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น
(พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ
ทหารอากาศ ตำรวจ และ อาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม
เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)
·
การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น
ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น
ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว
ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆ กันไปด้วย
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ จุฬาฯ 10 ก.ค.2523)
·
ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด
เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา
และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้
ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้ ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทย
และความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายได้
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปี
ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน 1 ก.ย.2526)
·
การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ
จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี
แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 ก.ย.2504)
·
คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ
การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม
เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล
และให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม
(เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31
ธ.ค.2545)
·
การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น
จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว
ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า
การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น
ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย
(เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31
ธ.ค.2502)
ที่มา : http://news.ch7.com/speech/22/40
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น