การประกาศนโยบาย “ค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งหวัง
สร้างประเทศไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเข้มแข็งได้ ต้องมีคนในชาติ
ที่เข้มแข็งก่อน ดังนั้นจึงกำหนดค่านิยมหลักของคนไทยให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนไทยใช้
เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตน โดยค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ มีดังนี้
☼ ๑. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติในปัจจุบัน หมายถึง
การประพฤติปฏิบัติตนที่แสดงถึงความศรัทธา หวงแหน ปกป้องยกย่องความเป็นชาติไทย ยึดมั่นศาสนา
และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น รู้ความสำคัญและให้ความเคารพชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ เป็นต้น
☼ ๒. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม หมายถึง การปฏิบัติตน
ที่แสดงถึงการยึดมั่นในความถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือ รู้จักควบคุมตนเอง
เมื่อประสบกับความยากลำบาก เช่น การเล่นและทำงานกลุ่มรวมกับเพื่อน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ต่อผู้อื่น เป็นต้น
☼ ๓. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ หมายถึง การประพฤติตนที่แสดงถึงการรู้จัก
บุญคุณปฏิบัติตามคำสั่งสอน แสดงความเคารพ ความเอาใจใส่ และตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่
ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เช่น เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่และครู ดูแลเอาใจใส่ รักและเคารพต่อพ่อแม่
ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เป็นต้น
☼ ๔. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษา เล่าเรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายถึง การปฏิบัติตน
ที่แสดงถึงความตั้งใจเพียรพยายามในการศึกษาเล่าเรียน แสวงหาความรู้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เช่น ตั้งใจศึกษาในเรื่องที่เรียนและเรื่องที่สนใจ มีความอยากรู้และสงสัยในเรื่องต่างๆ แสวงหาความรู้
เพื่อการศึกษาเล่าเรียนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น
☼ ๕. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม หมายถึง การเรียนรู้ ปฏิบัติตน และเห็นคุณค่า
ที่แสดงถึงการอนุรักษ์ การสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงามด้วยความภาคภูมิใจ เช่น
เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทยและสามารถปฏิบัติตามได้ เป็นต้น
☼ ๖. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน หมายถึง การประพฤติ
ปฏิบัติตนที่ดีงาม ยึดคำมั่นสัญญา มีจิตใจโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือผู้อื่น เช่น พูดความจริง มีน้ำใจ
ต่อเพื่อน ไม่ลักขโมย เป็นต้น
☼ ๗. เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
หมายถึง การเรียนรู้ ปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน
เคารพสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น รับฟังความคิดเห็นของเพื่อน รู้จักใช้สิทธิ์และหน้าที่
ของตนเอง ปฏิบัติตามข้อตกลงของห้องเรียน ให้ความร่วมมือโดยใช้เหตุผล เป็นต้น
☼ ๘. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ หมายถึง การปฏิบัติตน
ตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย มีความเคารพและนอบน้อมต่อผู้ใหญ่
เช่น ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกฎระเบียบของครอบครัวและชุมชนที่ตนอยู่ แสดงกิริยาที่เหมาะสม
มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ เป็นต้น
☼ ๙. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หมายถึง การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีสติ
รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ อย่างรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม เช่น มีสติ รู้ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ นำพระราชดำรัส
ของในหลวงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
☼ ๑๐. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัส
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้
ถ้าเหลือก็แจกจ่าย และขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง ดำรงชีวิต
อย่างพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้ มีคุณธรรม และอยู่ในสังคมได้อย่าง
มีความสุข ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
ประหยัดอดออม เป็นต้น
☼ ๑๑. มีความเข้มแข็งทั้งร่ายกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส
มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ตามหลักของศาสนา หมายถึง การปฏิบัติตนให้ร่างกายและจิตใจ
มีความเข้มแข็ง ละอายเกรงกลัวต่อบาป ไม่กระทำความชั่วใดๆ ยึดมั่นในการทำความดีตามหลัก
ของศาสนา เช่น รู้จักแยกแยะความดีความชั่ว รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นต้น
☼ ๑๒. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และต่อชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
หมายถึง ปฏิบัติตน เสียสละ ให้ความร่วมมือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และประเทศชาติ
เช่น ร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ในห้องเรียน รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันสิ่งของ
ให้กับผู้อื่น เป็นต้น
จากนโยบายค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มปรับปรุง
หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองแล้ว เพื่อให้นักเรียนรู้หน้าที่ของคนไทย
มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม มีความภูมิใจในชาติและความเป็นคนไทย ซึ่งค่านิยมดังกล่าว
ครอบคลุมและสอดคล้องกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑ ขณะที่วิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด จะเน้นย้ำให้มีการเรียนการสอน
ที่ครบถ้วนเข้มข้น นอกจากนี้จะทำข้อตกลงกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดหลักสูตรธรรมศึกษาเข้าไป
ในโรงเรียน ซึ่งนักเรียนที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรีควบคู่ไปด้วย
เพื่อให้ได้ผลตามที่มุ่งหมายไว้ คือ ประเทศไทยเข้มแข็ง การดำเนินการสร้างค่านิยม
ของคนไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครอบครัวที่ต้องมีความรัก
ความอบอุ่น พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อเนื่องไปถึงระดับชุมชนและสังคม เมื่อเด็กเข้าสู่
โรงเรียนก็จะได้รับการปลูกฝังค่านิยมจากครูอาจารย์ ซึ่งครูผู้เป็นแบบอย่างที่ดีกับศิษย์
จะสร้างเด็กที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทยต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น