วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

กระบวนการแก้ปัญหา

กระบวนการแก้ปัญหามี 4 ขั้นตอน ได้แก่
►การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา
►การเลือกเครื่องมือและออกแบบขั้นตอนวิธี
►การดำเนินการการแก้ปัญหา
►การตรวจสอบและปรับปรุง

         ☼ ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา
การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา (State the problem) คือ การทำความเข้าใจกับปัญหาเพื่อแยกให้ออกว่าข้อมูลที่กำหนดมาในปัญหาหรือเงื่อนไขของปัญหาคืออะไร สิ่งที่ต้องการคืออะไรและวิธีการที่ใช้ประมวลผลเป็นอย่างไรโดยองค์ประกอบในการวิเคราะห์ปัญหามีดังนี้
        1.1 การระบุข้อมูลเข้า ได้แก่ การพิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดมาในปัญหา
        1.2 การระบุข้อมูลออก ได้แก่ การพิจารณาเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องหาคำตอบ
        1.3 การกำหนดวิธีประมวลผล ได้แก่ การพิจารณาขั้นตอนวิธีการได้มาซึ่งคำตอบหรือข้อมูลออก

           ☼ ขั้นที่ 2 การเลือกเครื่องมือและออกแบบ
ขั้นตอนวิธีการเลือกเครื่องมือและออกแบบ (Tools and Algorithm development)เป็นขั้นตอนของการวางแผน ในการแก้ปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ขั้นตอนนี้เริ่มจากการเลือกเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหา โดยพิจารณาความเหมาะสมระหว่างเครื่องมือกับเงื่อนไขต่างๆของปัญหา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหา คือ ยุทธวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือที่เราเรียกว่าขั้นตอนวิธี (algorithm) ในการแก้ปัญหาในขั้นตอนการแก้ปัญหาเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจก็อาจใช้รหัสจำลอง (pseudo code) หรือ ผังงาน (Flow Chart)

          ☼ ขั้นที่ 3 การดำเนินการแก้ปัญหา
การดำเนินการแก้ปัญหา(Implementation)หลังจากที่ได้ออกแบบขั้นตอนวิธีเรียบร้อยแล้วขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องลงมือแก้ปัญหาโดยใช้เครื่องมือที่ได้เลือกไว้ หากการแก้ปัญหาดังกล่าวใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงาน ขั้นตอนนี้ก็เป็นการใช้โปรแกรมสำเร็จ หรือใช้ภาษาคอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมแก้ปัญหา ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่เลือกใช้ซึ่งผู้แก้ปัญหาต้องศึกษาให้เข้าใจและเชี่ยวชาญ ในการดำเนินการอาจพบแนวทางที่ดีกว่าที่ออกแบบไว้ผู้แก้ปัญหาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้

           ☼ ขั้นที่ 4 การตรวจสอบและปรับปรุง
การตรวจสอบและปรับปรุง (Refinement)  หลังจากที่ลงมือแก้ปัญหาแล้ว ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวิธีการนี้ให้ผลลัพธ์ถูกต้อง  โดยผู้แก้ปัญหาต้องตรวจสอบว่าขั้นตอนวิธีที่สร้างขึ้นสอดคล้องกับรายละเอียดของปัญหา ซึ่งได้แก่  ข้อมูลเข้า และข้อมูลออก เพื่อมั่นใจว่าสามารถรองรับข้อมูลเข้าได้ในทุกกรณีอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันต้องปรับปรุงวิธีการเพื่อให้การแก้ปัญหานี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น